วิทยากร: รศ.ดร.สมพร กันทรดุษฎี เตรียมชัยศรี อดีตอาจารย์ประจำคณะภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เชยไปแล้วสำหรับยุค 4.0 ที่หากอารมณ์ไม่ดีแล้วจะให้ของกินเยียวยา หรือออกไปช้อปปิ้งอย่างบ้าคลั่งแล้วอ้างว่านั่นคือการเยียวยาจิตใจตัวเอง เพราะนอกจากจะทำให้เสียเงินโดยใช่เหตุแล้ว ยังทำให้เสียสุขภาพอีกด้วย
หากกำลังมองหาหนทางเยียวยาตัวเองแบบไม่เสียเงิน ได้สุขภาพ และยั่งยืน ก็คงต้องลองการทำสมาธิบำบัด แบบ SKT เพราะทำได้ง่าย ๆ ทุกวัน โดยที่ไม่ต้องเสียเงินซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม
แล้วสมาธิบำบัด SKT คืออะไร ต่างจากการทำสมาธิปกติอย่างไร รศ.ดร.สมพร กันทรดุษฎี เตรียมชัยศรี อดีตอาจารย์ประจำคณะภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ไขคำตอบว่า SKT คือตัวย่อของชื่อนามสกุลของตน เป็นการฝึกสมาธิด้วยการควบคุมประสาทสัมผัสทั้ง 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น สัมผัส และการเคลื่อนไหว นำมาปฏิบัติคู่กับการควบคุมการหายใจ มี 7 เทคนิค เรียกว่า SKT 1-7 ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ส่วนปลาย ระบบประสาทอัตโนมัติ ระบบอารมณ์ พฤติกรรม ระบบภูมิต้านทาน ระบบไหลเวียนเลือด และระบบอื่นๆ เป็นอย่างดี จนมีส่วนช่วยป้องกัน และเยียวยาในผู้ป่วยโรคเรื้อรังให้ดีขึ้น โดย 3 เทคนิคที่ รศ.ดร.สมพร นำมาฝาก คือ SKT 1, SKT 6 และ SKT 7 ที่จะไล่ระดับจากง่ายมากไปจนถึงระดับง่ายปานกลาง สามารถทำได้วันละ 4 เซ็ท
SKT 1 ‘นั่งผ่อนคลาย ประสานกายประสานจิต’ นั่งเก้าอี้หลังตรง วางเท้าราบกับพื้น หงายฝ่ามือวางบนหัวเข่า หลับตาช้า ๆ สูดลมหายใจเข้าทางจมูกช้า ๆ กลั้นหายใจ นับ 1 2 3 แล้วค่อย ๆ ผ่อนลงออกทางปากช้า ๆ จนสุด นับเป็น 1 รอบการหายใจ ทำซ้ำเซ็ทละ 30-40 รอบ ท่านี้ควรทำวันละ 3 เซ็ท ก่อนหรือหลังมื้ออาหาร 30 นาที จะช่วยลดความดันโลหิต ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และลดน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานได้ดี
SKT 6 ‘ฝึกสมาธิการเยียวยาไทยจินตภาพ’ นอนราบกับพื้น แขนสองข้างวางแนบลำตัว หลับตาช้า ๆ สูดลมหายใจเข้าทางจมูกลึก กลั้นหายใจ นับ 1 2 3 แล้วผ่อนลมหายใจออกทางปากช้า ๆ นับเป็น 1 รอบลมหายใจ ทำซ้ำ 3-5 รอบ แล้วตั้งจิตจดจ่อไว้ที่ศีรษะ พูดเบา ๆ ว่า “ศีรษะเราเริ่มผ่อนคลาย ผ่อนคลาย ผ่อนคลาย ผ่อนคลาย ผ่อนคลาย 3 รอบ รอบที่ 4 และ 5 ให้ต่อท้ายว่า ผ่อนคลายลงไปเรื่อย ๆ” ไล่อวัยวะตั้งแต่ ศีรษะ หน้าผาก ขมับ หนังตา แก้ม คาง ริมฝีปาก คอ ไหล่ ต้นแขน แขน มือ หน้าอก หลัง หน้าท้อง ต้นขา หัวเข่า น่อง เท้า และตัวเราทั้งตัว เมื่อทำครบทุกอวัยวะแล้วให้หายใจเข้าทางจมูกช้า ๆ กลั้นลมหายใจ นับ 1 2 3 และผ่อนลมหายใจออกทางปากเบา ๆ จนสุด 3 รอบการหายใจ เทคนิคนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยหนัก เป็นการฟื้นฟูสภาพร่างกายสำหรับผู้ที่ป่วยหนักจนไม่รู้สึกตัวแล้ว ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี อัมพาต และช่วยเรื่องระบบการไหลเวียนโลหิต
SKT 7 ‘สมาธิเคลื่อนไหวไทยชี่กง’ นั่งหลังตรงเท้าวางราบกับพื้น ค่อย ๆ หลับตา ยกแขน 2 ข้างในระดับเอวตั้งฉากกับขา หันฝ่ามือเข้าหากัน สูดลมหายใจเข้าทางจมูกช้า ๆ พร้อมกับค่อย ๆ ขยับฝ่ามือเข้าหากัน กลั้นหายใจ นับ 123 แล้วผ่อนลมหายใจออกทางปากช้า ๆ จนสุด พร้อมกับขยับฝ่ามือออกจากกัน นับเป็น 1 รอบการหายใจ ทำซ้ำ 30-40 รอบหายใจ จากนั้นค่อย ๆ ปรับระดับมือให้ชูขึ้นในระดับหัวไหล่ คล้ายๆ กับท่ายกแจกัน สูดลมหายใจเข้า ค่อย ๆ ยกมือขึ้นเหนือศีรษะ กลั้นหายใจ นับ 123 แล้วผ่อนลมหายใจออกทางปากช้า ๆ จนสุดพร้อมกับ ค่อย ๆ ยกมือกลับในระดับหัวไหล่ นับเป็น 1 รอบการหายใจ ทำซ้ำ 30-40 รอบ นับเป็น 1 เซ็ท จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ลดอาการนอนไม่หลับ อาการท้องผูก อาการป่วยเรื้อรังหรือเฉียบพลันและภูมิแพ้
การฝึกสมาธิก็เหมือนการออมเงิน ใครหมั่นออม คนนั้นยิ่งได้ และหากอยากได้ก็ต้องทำเอง ดังเช่น คำว่า ‘สุขภาพดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องทำเอง’ เพราะสุดท้ายแล้วรวยอะไรย่อมสู้รวยสุขภาพดีไม่ได้
////////////////////////////////////////////////////
บทความ: โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
留言