top of page

พินัยกรรมแบบไหน ส่งต่อความห่วงใยให้คนรัก


วิทยากร: ทนายพีรพัฒน์ เทียนศิริ ทนายความและอาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่


เรามักจะคุ้นชินกับฉากการทำพินัยกรรมของอาม่า อากง ตามหน้าจอโทรทัศน์ในละครหลังข่าว และฉากต่อมาจะเป็นการ เปิดพินัยกรรมแบ่งสมบัติตามที่ได้ระบุไว้ บางเรื่อง พินัยกรรมถูกแบ่งตามความประสงค์ของผู้ตาย บางเรื่องมรดกและทรัพย์สินก็ตกทอดมาถึงทายาท กลายเป็นเศรษฐีพันล้านโดยไม่รู้ตัว

พินัยกรรมนั้นสำคัญไฉน การทำพินัยกรรมถือว่า มีความสำคัญระดับหนึ่ง เพราะแค่เอกสารฉบับเดียวสามารถเปลี่ยนสถานะทางการเงินและผลประโยชน์ได้ในพริบตา อย่างเลือดข้นคนจาง ที่ทิ้งปมปริศนา “ใครฆ่าประเสริฐ” ซึ่งแน่นอนว่าคนดูย่อมโยงใยไปถึงผลประโยชน์จากพินัยกรรม หลังจาก อากง หัวเรือใหญ่ ของครอบครัวเสียชีวิตลง ดังนั้น เราลองมาทำความเข้าใจเรื่องของพินัยกรรมกันดีกว่า โดยทนายพีรพัฒน์ เทียนศิริ ทนายความและอาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ อธิบายว่า การทำพินัยกรรม คือ การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินหรือในการต่างๆของผู้ทำพินัยกรรม เป็นคำสั่งครั้งสุดท้าย เพื่อที่จะให้เกิดผลบังคับได้ตามกฎหมาย ซึ่งผู้ที่ทำพินัยกรรมต้องมีอายุครบ 15 ปี บริบูรณ์ หากอายุต่ำกว่า 15 ปี ถือว่าพินัยกรรมนั้นใช้ไม่ได้


พินัยกรรมตามที่กฎหมายกำหนดไว้มี 5 แบบ ได้แก่ พินัยกรรมแบบธรรมดา พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง พินัยกรรมทำเป็นเอกสารลับ และพินัยกรรมทำด้วยวาจา แต่ส่วนใหญ่จะนิยมทำพินัยกรรมเพียงแค่ 2 ประเภท คือ พินัยกรรมแบบธรรมดา และพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ โดยพินัยกรรมแบบธรรมดา เป็นพินัยกรรมแบบที่นิยมใช้กันมากที่สุด ซึ่งต้องทำเป็นหนังสือ จะเขียนหรือพิมพ์ก็ได้ ต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำ ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน และพยานต้องลงลายมือชื่ออย่างเดียวเท่านั้น ส่วนพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับนั้น ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยลายมือของตนเองทั้งฉบับ ต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำ ต้องลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรม และพินัยกรรมประเภทนี้ไม่ต้องมีพยาน สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ พินัยกรรมทั้งสองประเภทนี้ ห้ามมีการขูด ลบ ตกเติม เด็ดขาด ถ้าหากมีจะถือว่าเป็นโมฆะ เว้นแต่จะลงลายมือชื่อแก้ไขไว้


ซึ่งตามกฎหมายของไทย ถือว่าบุคคลใดถึงแก่ความตาย มรดกของบุคคลนั้นจะต้องตกไปยังทายาท ซึ่งการตายตามกฎหมายนั้น มี 2 ประเภท คือ ตามแบบธรรมดา เช่น โรคชรา อุบัติเหตุ หรือฆาตกรรม และตายโดยผลของกฎหมาย เช่น หายออกจากบ้านเกิน 5 ปี สามารถร้องต่อศาลให้เป็นบุคคลสาบสูญได้ หรือ อุบัติเหตุเครื่องบินตก หายสาบสูญเกิน 2 ปี ก็เข้าข่ายการตายประเภทนี้เช่นกัน แต่ไม่ว่าจะตายแบบใดนั้น มรดกก็จะตกไปที่ทายาท โดยมรดกของผู้ตาย คือ ทรัพย์สิน ทุกชนิด รวมไปถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ได้แก่ หนี้สินนั่นเอง


สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจต่อมาคือ ทรัพย์สิน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สิ่งที่จับต้องได้ เช่น ที่ดิน รถ สมุดบัญชี และทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ เช่น เครื่องหมายการค้า ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนตาย มักเป็นของผู้ตายเสมอ แต่ถ้าเมื่อใดที่ได้มาโดยอาศัยการตาย จะไม่นับเป็นมรดก เช่น บำเหน็จบำนาญ ประกันชีวิต ส่วนนี้เจ้าหนี้ก็ไม่มีสิทธิ์มาเรียกร้องส่วนที่ไม่ใช่มรดกเช่นกัน


ตามมาด้วยทายาทตามกฎหมายของไทยนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ กรณีที่ไม่ได้ทำพินัยกรรม ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย เรียกว่า ทายาทโดยธรรม และหากได้ทำพินัยกรรมระบุตัวบุคคลไว้ จะเป็นทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม เรียกว่า ผู้รับพินัยกรรม


คงรู้เหตุผลแล้วใช่ไหมว่า ทำไมมรดกของอากง แห่งโรงแรมในเครือจิรอนันต์ จึงแบ่งสันปันส่วน ลดหลั่นกันไป ลองคิดดูสิว่า หากอากงไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ เรื่องวุ่นวายจะเกิดขึ้นรุนแรงมากกว่านี้หรือไม่ และอย่าลืมว่า สิ่งสำคัญในการเขียนพินัยกรรม ต้องลงวันที่ และลายมือชื่อ ให้ชัดเจน เพราะ กรณีมีพินัยกรรม 2 ฉบับ จะยึดฉบับล่าสุด ซึ่งพิจารณาจากวันที่นั่นเอง รู้อย่างนี้แล้ว อย่าลืมส่งต่อทรัพย์สินไปยังคนที่รัก รับรองว่า งานนี้อุ่นใจทั้งคนให้ สุขใจทั้งคนรับแน่นอน คอนเฟิร์ม


////////////////////////////////////////////////////

บทความ: โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ดู 111 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Commenti


bottom of page