top of page

เรื่องไม้เท้า... ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้เฒ่า แต่เป็นเรื่องของพวกเราที่สำคัญ และควรต้องรู้


วิทยากร: คุณเตชิต เลิศอเนกวัฒนา นักวิทยาศาสตร์การกีฬา เครือข่ายคนไทยไร้พุง


เรื่องของการใช้ “ไม้เท้า” บางคนอาจจะคิดว่ายังไม่แก่ ข้อเข่ายังไม่เสื่อม หรือไม่ได้พิการ ก็ไม่เห็นว่ามีความสำคัญจำเป็นที่จะต้องใช้หรือเรียนรู้... แต่เมื่ออายุของคุณเพิ่มขึ้นทุกวัน ร่างกายก็ค่อย ๆ เสื่อมลงตามกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นเส้นเอ็น ข้อต่อ กระดูก ฯลฯ ปัญหาสุขภาพ หรือแม้แต่เรื่องของอุบัติเหตุ ที่ไม่คาดคิดก็อาจเกิดขึ้นได้

ดังนั้นวันนี้ “คุณเตชิต เลิศอเนกวัฒนา” นักวิทยาศาสตร์การกีฬา เครือข่ายคนไทยไร้พุง จึงได้นำเอาความรู้เกี่ยวกับเรื่องของ “การใช้ไม้เท้า” และ “ก่อนการใช้ไม้เท้า” ทั้งแนวทางในการป้องกัน หลีกเลี่ยง และเตรียมความพร้อมสำหรับผู้สูงวัย รวมถึงคนทั่วไปที่จะสามารถนำไปถ่ายทอดเป็นความรู้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง คนในครอบครัว หรือต่อผู้อื่นได้ในอนาคต ซึ่งผู้ที่ใช้ไม้เท้าอย่างถูกวิธีในวันนี้ ที่สุดแล้วก็อาจจะกลายเป็นผู้ที่สามารถเลิกใช้ไม้เท้าได้ในอนาคต และกลับไปแข็งแรงเป็นปกติได้ด้วย...


ซึ่งตามความเชื่อเดิมเรามักจะคิดว่าคนที่จะใช้ไม้เท้าต้องเป็นผู้สูงอายุเท่านั้น แต่อันที่จริงแล้วเมื่อร่างกายถูกใช้ทุกวัน ข้อต่อในร่างกายก็ถูกใช้งานทุกวัน หรือในทุก ๆ ก้าวที่เดิน ข้อต่อต่าง ๆ เกิดการเสียดสีทุกวันด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย มีน้ำหนักเยอะ หรือไม่ได้ฝึกกล้ามเนื้อรอบ ๆ หัวเข่าให้แข็งแรงเลย เข่าก็จะยิ่งเสื่อมสภาพได้ง่าย

ความเสื่อมของร่างกาย ไม่ได้เกิดเฉพาะในผู้สูงอายุ... แต่จะเริ่มเสื่อมลงตั้งแต่อายุ 25 ปีเป็นต้นไป เริ่มผมร่วง เริ่มมีอาการเจ็บป่วยเยอะขึ้น ซึ่งในช่วง 25-35 ปี จะเป็นช่วงที่ร่างกายอาจไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมาให้เห็น แต่สำหรับบางคนที่ใช้ชีวิตเต็มที่ในช่วงนี้ อาการก็จะเริ่มออกในช่วงอายุ 35-45 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายเปลี่ยนแปลงมากที่สุด แต่ถ้าดูแลสุขภาพดีร่างกายก็จะไม่ค่อยมีปัญหาอะไรมากนัก แต่เมื่อเข้าสู่ช่วง 45 ปีไปแล้ว ฮอร์โมนต่าง ๆ หรือกระบวนการในการรักษาฟื้นฟูต่าง ๆ ภายในร่างกายก็จะเริ่มน้อยลง ซึ่งใครที่เริ่มใช้ไม้เท้าตั้งแต่ช่วงก็อาจจะฟื้นตัวได้ช้ากว่า แต่ก็ยังพอมีโอกาสหายได้ ดังนั้นหลายคนจึงเริ่มหันมาออกกำลังกายดูแลใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้นตั้งแต่อายุยังน้อย ๆ


การดูแลรักษาและป้องกัน ทำได้ด้วยการออกกำลังเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อที่จะชะลอความเสื่อมควรเริ่มจากอวัยวะ 2 ส่วน คือ ร่างกาย และสมอง ซึ่งในส่วนของร่างกายก็ต้องดูแลทั้ง หัวใจ หัวเข่า กล้ามเนื้อ ข้อเท้า สะโพก ฯลฯ

ประเภทของไม้เท้า และอุปกรณ์ช่วยเดิน จริง ๆ แล้วมีหลายแบบมาก แต่ถ้าเป็นไม้เท้าจริง ๆ ก็จะเป็นอุปกรณ์ที่เราสามารถใช้ข้อมือในการควบคุม และช่วยพยุงน้ำหนักของร่างกายไม่เกิน 30% ซึ่งไม้เท้าจะสามารถช่วยได้แค่นั้น แต่ถ้าร่างกายบาดเจ็บมากกว่านั้น หรือเดินยากและต้องทิ้งน้ำหนักตัวลงทั้งตัว ก็อาจจะต้องใช้อุปกรณ์อื่นอย่าง Walker หรือไม้ค้ำยันแทน แต่ถ้าเป็นไม้เท้า ถึงแม้จะเป็นตัวช่วยที่ช่วยได้น้อย แต่ก็เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกัน และฟื้นฟูร่างกายให้กลับไปปกติสมบูรณ์ได้ดีที่สุด


การใช้ไม้เท้าที่เหมาะสม: คือมือควรจับให้อยู่ในระดับสะโพกของตัวเองเมื่อยืน และงอแขนเล็กน้อยเวลาจับ ดังนั้นควรใช้แบบปรับระดับได้ เพื่อความแข็งแรง วัสดุที่ใช้ก็ควรเป็นวัสดุที่ดีมีคุณภาพ และด้ามจับควรต้องจับถนัดกระชับมือ เพื่อที่จะใช้ในการพยุงตัวไม่ให้ล้มง่าย

วิธีการเลือกไม้เท้า: ควรเลือกจากระดับของความเจ็บปวดหรือการเดิน ในผู้ที่มีอาการเจ็บปวดเล็กน้อย พอเดินไหว ไม้เท้าขาเดียวนั้นพอใช้ได้ แต่สำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บมากและเดินยาก ก็ควรเลือกแบบที่มีสามหรือสี่ขา เพื่อช่วยในการพยุงและทรงตัว แต่ที่สำคัญคือต้องเป็นผู้ที่ข้อมือหรือร่างกายท่อนบนต้องแข็งแรงด้วย

วิธีการถือไม้เท้าช่วยในการเดิน: ควรเลือกถือข้างที่ขาดี ส่วนการวางควรต้องถือล้ำไปทางด้านหน้าประมาณหนึ่งกำปั้น แล้ววางไปพร้อมขาด้านที่ก้าว จากนั้นจึงค่อยตามด้วยขาข้างที่ไม่ดี

ข้อควรระวังในการใช้ไม้เท้า: ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ควรพึ่งพาไม้เท้าให้น้อย เพราะในการฟื้นฟูร่างกาย ควรต้องฝึกให้กล้ามเนื้อหัวเข่าได้รองรับน้ำหนัก เพื่อให้เกิดความแข็งแรงและพัฒนา และต้องระมัดระวังในการเข้าห้องน้ำเป็นพิเศษ พยายามอย่าถือเท้าเข้าไปในห้องน้ำ เพราะอาจเกิดการลื่นล้มสูง ดังนั้นห้องน้ำควรจะเป็นห้องน้ำที่มีราวกั้นเพื่อยึดจับมากกว่า

การเลือกวัสดุที่ใช้ทำไม้เท้ามีส่วนสำคัญ ควรจะเป็นวัสดุที่แข็งแรง มีด้ามจับที่ถนัดกระชับมือ วัสดุหุ้มจับควรเป็นยางที่ ยึดติดกับตัวไม้เท้าและไม่เลื่อนหลุด รวมทั้งสามารถยึดพื้นได้ดี ที่สำคัญควรจะไปดูไม้เท้าด้วยตัวเองก่อนซื้อ เพื่อความมั่นใจในความมั่นคงแข็งแรงและตรงตามความต้องการในการใช้งาน


วิธีการป้องกันก่อนใช้ไม้เท้า เราสามารถปรับปรุงสมดุลร่างกายเพื่อการทรงตัวที่ดี ด้วยการฝึก 7 ท่าดังนี้

  1. ท่ายืนขาเดียว หรือ ท่านกฟลามิงโก้ คือเอาปลายมือแตะที่พนักเก้าอี้ แล้วยกขาขึ้น โดยพับขาไปทางด้านหลัง แล้วสลับข้าง จากนั้นลองเปลี่ยนข้างแล้วแตะพนักเก้าอี้ให้น้อยลง เชิดหน้า แขม่วท้องไว้ สุดท้ายคือลองไม่จับพนักเก้าอี้ และหลับตาลง ค้างท่าละ 10 วินาที

  2. ท่าเข็มนาฬิกา พับเข่าขึ้นมาด้านหน้า และยกแขนให้ขนานเข่า จากนั้นก็เปลี่ยนทิศไปทางด้านข้างและด้านหลัง แล้วจึงเปลี่ยนข้าง จากนั้นจึงหลับตาแล้วทำซ้ำ เพื่อให้กลไกของร่างกายได้ฝึกการรักษาสมดุล

  3. ท่ายืนต่อเท้า เป็นท่าที่ยาก เพราะจะต้องอาศัยการทรงตัว โดยจะต้องเอามือทั้งสองข้างประสานกันไว้ที่อก แล้วก้าวเท้าต่อกันทีละข้างไปด้านหน้า หากมีปัญหาเรื่องการทรงตัว สามารถจับที่พนักเก้าอี้เพื่อพยุงตัวได้

  4. ท่าเอื้อมทีละฝั่ง เริ่มจากยกแขนสลับกับยกขายืดไปข้างหน้าในด้านเดียวกัน โดยจับเก้าอี้ไว้เพื่อประคอง จากนั้นค่อยสลับด้านเมื่อครบ 10 วินาที ซึ่งท่าที่เกร็งค้างไว้นาน ๆ หรือไม่

  5. ท่าเดินสวนสนาม ก็คือการยกเข่าขึ้นมาแตะที่มือค้างไว้ แล้วทำท่าเดิมสลับข้างค้างไว้ด้านละ 10 วินาที

  6. ท่าหมุนท่อนบน ก็คือท่าที่ใช้ตั้งแต่ส่วนเอวขึ้นไปหมุนเป็นวงกลม ซึ่งในการฝึกต้องระวังการล้ม เป็นท่าที่จะสามารถดูได้ว่าเราทรงตัวได้ดีแค่ไหน ซึ่งผู้ที่ฝึกบ่อย ๆ อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ไม้เท้าเลย

  7. ท่าเกรบไวน์ จะไขว้เท้าไปด้านหลังหรือด้านหน้า แล้วแยกเท้าออกจากกัน แบบก้าว ไขว้ ก้าว ชิด สลับด้านทั้งซ้ายและขวา

ซึ่งท่าต่าง ๆ นั้น ควรต้องฝึกเป็นประจำ แต่สลับท่าไปเรื่อย ๆ วันละ 3-4 ท่า ท่าละ 3-4 ครั้ง ระยะเวลาต่อครั้งคือ ครั้งละ 5-10 นาที ซึ่งข้อควรระวังก็คือท่าที่มีการขยับตัวน้อยหรือค้างนาน ๆ เลือดจะไม่ส่งไปเลี้ยงหัวใจ จึงไม่ควรค้าง ท่านานจนเกินไป โดยเฉพาะที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงต้องระวัง ผู้ที่ฝึกบ่อยจะมีการทรงตัวที่ดีกว่าคนปกติ และต้องลองสังเกตอัตราการเต้นของหัวใจให้ดี และระวังเรื่องการหกล้มให้มาก รวมทั้งควรสวมใส่เสื้อผ้าที่คล่องตัวเสมอเวลาออกกำลังกายเสมอนั่นเอง

////////////////////////////////////////////////////

บทความ: โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ดู 151 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Komentáře


bottom of page